หน้าเว็บ

สื่อมวลชนจังหวัดอ่างทอง ลงพื้นที่สำรวจโบราณวัตถุที่สำคัญ ในเขตพื้นที่ ต.ทางพระ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ.2561 เวลา 13.30 น.

          สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดอ่างทอง ร่วมกับ สื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง ผู้แทนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง และชมรมนักประวัติศาสตร์จังหวัดอ่างทอง ร่วมสำรวจโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในพื้นที่ของต.ทางพระ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง




          นายโชคชัย ทองศักดิ์ นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดอ่างทอง ได้รับการประสานงานจาก ชมรมนักประวัติศาสตร์จังหวัดอ่างทอง ว่าช่วงเดือนเมษายน 2559 ทางชุมชนทางพระได้จ้างรถแบ็คโฮขุดพื้นดินเพื่อก่อสร้างแท็งค์น้ำประปาหมู่ที่ 3 ด้านทิศตะวันออกห่างจากบริเวณคูน้ำทรงครึ่งวงกลมประมาณ 400 เมตร หลุมที่ขุดอยู่ด้านใต้วัดร้างสระมะดันประมาณ 50 เมตร พบเศษแตกหักของอิฐขนาดใหญ่, ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาแบบมีลวดลายและไม่มีลวดลาย, ลวดลายขูดขีดและลายเชือกทาบ กระดูกสัตว์ เครื่องถ้วยเคลือบ กระจัดกระจายมากมาย เมื่อลงไปดูในหลุม พบชั้นดินที่มีร่องรอยการตั้งชุมชนที่ต่างระดับกัน บนผิวดินประมาณ 1 ฟุตเศษพบเศษกระเบื้องเคลือบ ประมาณ 1 - 1.30ซม.พบกระดูกสัตว์และเศษอิฐ เศษเครื่องปั้นดินเผา ประมาณ 2 เมตรก็พบชั้นดินที่มีเศษเครื่องปั้นดินเผาอีกเช่นกัน จึงได้ประสานงานร่วมกับ สื่อมวลชนในท้องถิ่นลงพื้นที่สำรวจในครั้งนี้




          นายบัญชา กล่อมเกลี้ยง ผู้แทนจากชมรมนักประวัติศาสตร์จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบน่าจะเป็นการตั้งชุมชนมาแต่โบราณตั้งแต่ทวารวดี-อยุธยา-จนถึงรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน เพราะพบหลักฐานทางโบราณคดีในหลายระดับชั้นดิน วัดร้างสระมะดันยังเคยค้นพบพระพิมพ์แบบทราวดี-สุพรรณภูมิ คือพระปางห้ามสมุทรและพระร่วงเท้าถ่าง (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระร่วงตีนเป็ด) พระเศียรโต องค์พระและขาป้อมสั้นต้อ แบบพระพิมพ์ทางแถบเมืองสุพรรณ แตกต่างจากทวารวดี-ลพบุรีที่มีทรวดทรงสมส่วน



          นอกจากนั้นบริเวณนี้ พบว่ามีลำน้ำโบราณที่ปรับคันดินใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและแถบตะวันออกก็มีคูน้ำเช่นกันแต่ตื้นเขินและมีบ้านเรือนปลูกอาศัย สมัยก่อนบริเวณนี้เป็นเกาะกลางน้ำมีสะพานทอดยาวเข้าไปจากการบันทึกรูปภาพหน้าจอแผนที่ทางอากาศ ส่งให้ นักโบราณคดีอาวุโสท่านหนึ่ง วิเคราะห์สภาพ สันนิษฐานว่าอาจมีความเป็นไปได้ว่า เป็นชุมชนเมืองทวารวดีในช่วงพุทธศตวรรษที่11-16



          นางสาวพิมลรัตน์ มลฑา วัฒนธรรมอำเภอโพธิ์ทอง กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นหลังลงสำรวจพื้นแล้วทีมงานของสื่อมวลชน จะเชิญนักโบราณคดีเข้ามาสำรวจอีกครั้งก่อนจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอารยธรรมของจังหวัดอ่างทอง เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาถึงความเป็นมาของชาวบ้านของต.ทางพระ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ต่อไป

ภาพ / ข่าว ... สำนักงานข่าวท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง