วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุมโรงเรียนวัดแก้วกระจ่าง อำเภอแสวงหานายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล (รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง) และ นายทัศนัย สุธาพจน์ (รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง) เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ตำบลสีบัวทอง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 พร้อมด้วย หัวหน้าสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้บริหารสถานศึกษา กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และผู้แทนสื่อมวลชนจังหวัดอ่างทอง เข้าร่วมประชุม
โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการปฏิบัติ ข้อเสนอแนะ ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้พิพิธภัณฑ์วัดแก้วกระจ่าง ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ หลังจากสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้ขุดพบร่องรอยของมนุษย์ โครงกระดูกและโบราณวัตถุหลายรายการ และเก็บรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดแก้วกระจ่าง โดยทางจังหวัด จะจัดตั้งคณะทำงานซึ่งมีศักยภาพสามารถพัฒนาให้เป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แห่งใหม่ของจังหวัดอ่างทอง ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างรายได้ และเป็นแหล่งความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในหลักสูตรเรียนรู้ท้องถิ่น กับการเป็น “นักโบราณคดีตัวน้อย” ให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย
นางจิราพร กิ่งทัพหลวง (ผู้แทนสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา) กล่าวว่า หลังจากการขุดค้นที่ดำเนินการโดยสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยาสิ้นสุดลง และอนุญาตให้เจ้าของที่ดินคืนให้ลุงแจ้ง กลับมาดำเนินการเพาะปลูกต่อได้ มีการขุดค้นพบกลุ่มฝังศพร่วมกับสิ่งของอุทิศในที่ดินอีกจำนวนมาก เช่น เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินกระสุนดินเผาลูกปัดหินเครื่องมือหินขัด กระดูกสัตว์รวมถึงกระดูกมนุษย์
ผลการศึกษาเบื้องต้นโดยกรมศิลปากร สันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีสีบัวทองเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยยุคหินใหม่ กำหนดอายุโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์จากถ่านที่พบในหลุมฝังศพ พบว่าอายุประมาณ 3,600 - 3,200 ปี มีเครื่องใช้สำคัญคือ เครื่องหินขัด และยังคงอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงยุคโลหะ (ยุคสำริด) ซึ่งมีหลักฐานที่สำคัญคือกำไรสำริด ที่พบร่วมกับกลุ่มฝังศพ 1 โครง ใบหอกสำริด และฉมวกสำริด กำหนดอายุเบื้องต้นจากฐานที่อยู่ในหลุมฝังศพ ประมาณ 2,800 ปี
นายทัศนัย สุธาพจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้สรุปแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง กำหนดชื่อเบื้องต้นว่า “ศูนย์การเรียนรู้โบราณคดีสีบัวทอง” แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ตำบลสีบัวทอง หลังชาวบ้านขุดพบโครงกระดูกมนุษย์และวัตถุโบราณ โดยแบ่งออกเป็น 4 กรอบนโยบายการทำงาน คือ กรอบที่ 1 การก่อสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ตำบลสีบัวทอง , กรอบที่ 2 ด้านวิชาการเพื่อศึกษาหารายละเอียดของกระดูกและชิ้นส่วนที่ยังคงไม่ได้ตรวจสอบ , กรอบที่ 3 ด้านการศึกษาให้เยาวชนมีความรู้ด้วยการออกแบบหลักสูตรท้องถิ่น และกรอบที่ 4 ด้านการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูล เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทองต่อไป
ภาพ : หนังสือพิมพ์เอกราชนิวส์
เนื้อหา : สำนักงานข่าวท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง (AngthongNews)