อำเภอเมืองอ่างทอง จัดประชุมผู้นำชุมชนเดินเครื่องกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจังหวัดอ่างทองปี 2568


เมื่อวันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
ณ ห้องประชุมชั้น 2 อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง


นายรักศักดิ์ เทียนไชย (นายอำเภอเมืองอ่างทอง) เป็นประธานประชุมพร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านระดับอำเภอ จำนวน 20 คน เพื่อให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ และสามารถเป็นกลไกสำคัญของขุมชนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมี นายประวิทย์ ษรสา (พัฒนาการอำเภอเมืองอ่างทอง) เป็นกรรมการและเลขานุการ

 

 
โดยอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการชุดนี้ คือ ให้การสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของกองทุนหมู่บ้านในอำเภอด้วยกระบวนการเรียนรู้ การทำแผนปฏิบัติการรองรับแผนยุทธศาสตร์แผนงานงบประมาณกองทุนหมู่บ้านของจังหวัด จัดทำแผนงานและโครงการเพื่อบูรณาการการพัฒนากองทุนหมู่บ้าน เป็นหน่วยจัดการความรู้เพื่อบูรณาการการพัฒนากองทุนหมู่บ้าน ติดตาม ตรวจสอบ ให้แนะนำการแก้ไขปัญหา ข้อร้องเรียน ข้อขัดแย้งของกองทุนหมู่บ้าน รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านในอำเภอให้คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจับจังหวัดตามระเบียบหรือวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

 


นางสาวชณุตพร โพธิสมภาพวงษ์ (นักวิชาการพัฒนากองทุน ศูนย์ประสานงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจังหวัดอ่างทอง (ศปจ.)) แจ้งเพิ่มเติมว่า ที่มาของกองทุนชุมชนที่เป็นกรณีพิเศษครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมารัฐบาล โดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเน้นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่มีภาคประชาชนเป็นผู้บริหารอย่างแท้จริง โดยจะจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการลงทุน สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการออมของประชาชน เพื่อความมั่นคงในรากฐานของชีวิต และครัวเรือน ผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง

 

เป้าหมายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 79,610 กองทุนทั่วประเทศ คุณสมบัติของกองทุนหมู่บ้าน
และชุมชนเมือง

1. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

2. ส่งงบการเงินรอบปีบัญชี ต่อเนื่อง 2 ปี

3. มีคณะกรรมการถองทุนหมู่บ้านฯ ที่ได้รับคิดเลือก และรับรอง เป็นปัจจุบัน

4. คุณสมบัติอื่น ๆ ตาบที่กำหนด

 


ขนาดหมู่บ้านและวงเงินงบประมาณแบ่งเป็น 3 ระดับ ดูจากประชากรทะเบียนราษฎร์ของแต่ชุมชนคือ

1. ระดับ S ประชากรไม่เกิน 500 คน ขอรับได้ 200,000 บาท

2. ระดับ M ประชากร 500-1,000 คน ขอรับได้ 300,000 บาท

3. ระดับ L ประชากร 1,001 คนขึ้นไป ขอรับได้ 400,000 บาท



งบประมาณที่ทางรัฐบาลจะจัดสรรให้พิเศษเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน กำหนดโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้าน และชุมชนเพื่อส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจฐานรากของหมู่บ้าน และชุมชน


เพิ่มศักยภาพ การหารายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาสในอาชีพอย่างยั่งยืน สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในด้านการประกอบอาชีพ ด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด และการบริการของประชาชน ส่งเสริม และสนับสนุนต่อยอดในโครงการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้มีการพัฒนา และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อเนื่องและยั่งยืน อนุรักษ์ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้าน และชุมชน

 

จังหวัดอ่างทองทั้งจังหวัดมีกองทุนหมู่บ้านทั้งหมด 533 กองทุน สำหรับอำเภอเมืองอ่างทองได้รับ 91 กองทุนใน 12 ตำบล (รวมเทศบาลเมืองอ่างทอง) โดยทุกกองทุนหมู่บ้านที่จำทำโครงการขอรับเงินพิเศษนี้ ต้องทำรายงานผลปิดงบดุลปี 2566-2567 ส่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างเปิดให้ทุกกองทุนเขียนโครงการ นำเสนอรายละเอียดขอรับเงินตามระดับวงเงินที่กำหนด


 

เรียบเรียงข่าวโดย
สำนักงานข่าวท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง (AngthongNews)

ขอบคุณภาพจาก
พัฒนาการ อ.เมืองอ่างทอง