ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามและมอบแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมเน้นย้ำ ต้องสร้างทีมจิตอาสาในทุกตำบล เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2565 เวลา 10.30 น.

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบแนวทางการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดอ่างทอง โดยมี นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นางสาวเอกรัตน์ นาคาคง นายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นายปริญญา เขมะชิต ปลัดจังหวัดอ่างทอง นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอ่างทอง พลตำรวจตรี วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม  ณ ห้องประชุมวิเศษชัยชาญ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง





นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่มุ่งมั่นในการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมไทย โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จึงได้กำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชน ซึ่งจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดแรกที่นำร่องใช้งานระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) ที่พัฒนาระบบโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จนประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน สามารถลดจำนวนครัวเรือนกลุ่มคนเปราะบางถึงร้อยละ 77 ภายในเวลา 1 ปี เกิดเป็น “สมุทรสงครามโมเดล” ขึ้น กระทั่งรัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ซึ่งมีกลไกตั้งแต่ระดับนโยบาย และในระดับพื้นที่ ทั้ง ศจพ. จังหวัด ศจพ. อำเภอ ทีมปฏิบัติการตำบล และทีมพี่เลี้ยง โดยใช้ข้อมูลจากระบบ TPMAP เป็นเป้าในการลงไปสำรวจ Re X-Ray ข้อมูล โดยกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมการปกครองพัฒนาแพลตฟอร์ม ThaiQM เพื่อใช้ในการค้นหาสภาพปัญหาเพิ่มเติมจากระบบ TPMAP เพราะอาจจะมีพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนในมิติอื่น ๆ นอกเหนือจากความยากจนในระบบ TPMAP เช่น มีลูกหลานติดยาเสพติด มีบ้านแต่ไม่มีเลขที่บ้าน ก็เป็นปัญหาความเดือดร้อนที่ท่านนายอำเภอและทีมงานต้องบันทึกลงในระบบเพื่อให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้อย่างครอบคลุมครบถ้วน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างแท้จริง



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการรายงานข้อมูลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนของจังหวัดอ่างทอง ทั้งฐานข้อมูลจากในระบบ TPMAP และแพลตฟอร์ม ThaiQM นับเป็นผลงานของการประสบความสำเร็จในขั้นต้น เช่น กรณีมีบ้านแต่ไม่มีเลขที่บ้าน ที่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายจนทำให้พี่น้องประชาชนสามารถมีเลขที่บ้าน จะส่งผลดีต่อการบริหารพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญ 3 ประการ คือ 1) ทำให้ทางราชการมีฐานข้อมูลที่ถูกต้องว่ามีบ้านเรือนกี่หลัง บริเวณใดบ้าง และในแต่ละหลังมีคนมีรายได้เท่าใด 2) ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐได้ ทั้งเรื่องมิเตอร์น้ำ มิเตอร์ไฟ และ 3) ทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการวางแผนพัฒนาเมือง สร้างความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม



กระทรวงมหาดไทย ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่องที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวประชาชนเอง ซึ่งนับเป็นโอกาสดีในวาระครบ 130 ปีการสถาปนากระทรวงมหาดไทยที่ได้ดำเนินการควบคู่มากับการปฏิรูประบบราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ทุกกระทรวงมีจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อทำนุบำรุงให้ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มีความมั่นคง ทั้งนี้ ประเทศชาติหรือพื้นที่จะมั่นคง “คนต้องมีความสุข” ดังนั้น เมื่อเราได้รู้ได้ทราบข้อมูล/ข้อเท็จจริงของสภาพปัญหาแล้ว เป็นหน้าที่ของข้าราชการทุกคนต้องช่วยกันจำแนกกลุ่มของปัญหาให้ได้ ให้ชัดเจน และจัดระบบการแก้ไขปัญหา การติดตามความก้าวหน้า ด้วยการบูรณาการให้เกิดการขจัดปัญหาให้หมดไปย่างยั่งยืน ด้วยการต้องมีเจ้าภาพหลักในแต่ละเรื่อง หรือในบางเรื่องอาจต้องมีเจ้าภาพแก้ไขปัญหาและพัฒนาในแต่ละประเด็นย่อย เช่น ปัญหายาเสพติด มิติด้านการปราบปรามเป็นหน้าที่ของกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด การบำบัดรักษาเป็นหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล เรื่องการฟื้นฟูคืนคนดีสู่สังคม เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภาคีเครือข่าย ผู้นำภาคประชาชน และคนในสังคม ซึ่งแน่นอนว่า ในทุกบ้าน ในทุกสังคม ต้องมีหัวหน้าครอบครัว






“จังหวัดก็ต้องมีผู้นำ” คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัด “อำเภอก็ต้องมีผู้นำ” คือ ท่านนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ที่เป็นโซ่ข้อกลางระหว่างพื้นที่และส่วนกลาง โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการในสังกัดกระทรวง กรม ต่าง ๆ รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นรัฐมนตรีช่วยบริหารงานในทุกเรื่อง ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องต้องรับรู้และช่วยเหลือเกื้อกูลให้การปฏิบัติงานของกระทรวง กรมต่าง ๆ ในพื้นที่ของท่านเป็นไปอย่างเข้มข้น ทั้งในเชิงคุณภาพ เชิงพื้นที่ และเชิงปริมาณ พร้อมทั้งกระตุ้นปลุกเร้า ปลุกพลังในตัวข้าราชการในพื้นที่ไม่ว่าจะสังกัดกระทรวงหรือกรมใด ให้ทุกคนมีไฟ มีจิตใจที่รุกรบ พร้อมจะขับเคลื่อนงานราชการเพื่อสร้างประโยชน์สุขและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการ “สร้างทีมจังหวัด” และ “ทีมอำเภอ” โดยรวมพลังของคนที่มีความรัก ความหวงแหนแผ่นดินเกิด และมีจิตสาธารณะ จิตเสียสละ จิตอาสาโดยไม่ต้องมีผ้าพันคอ ซึ่งต้องค้นหาให้เจอ และลงไปคลุกคลีตีโมง พูดคุย หารือ กระตุ้น ย้ำเตือนกับทีมงานให้มากขึ้น ทั้งทีมที่เป็นทางการ คือ คณะกรรมการหมู่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อปลุกจิตสำนึกแห่งการทำหน้าที่ที่สมบูรณ์แบบให้เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ต้องสร้างและขยายทีมเป็น “ทีมตำบล” ให้เพิ่มขึ้นในทุกตำบลของพื้นที่อำเภอ ด้วยการน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “บวร” “บรม” “ครบ” โดยเชิญชวนทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารสังคม มาร่วมเป็นทีม ซึ่งในส่วนของภาคีเครือข่ายสื่อสารมวลชน ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแต่เฉพาะผู้มีวิชาชีพสื่อสารมวลชน แต่ “ทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชนได้” เพราะทุกคนมีสื่อในมือที่สามารถสื่อสารได้ ทั้งการรายงานผู้บังคับบัญชา และรายงานข้อมูลข่าวสารไปยังเพื่อน มิตรสหาย รวมทั้งสมาชิกในสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดการสนธิกำลังแห่งการพัฒนาให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความสำเร็จในการพัฒนาทุกเรื่องอยู่ที่ผู้นำ” ซึ่งทุกคนคือผู้นำ ที่ต้องมีแรงปรารถนา มี passion ที่อยากที่จะ Change for Good เปลี่ยนแปลงให้เกิดการสร้างสิ่งที่ดี ให้คำว่า “ยากจน” และ “ความเดือดร้อนของประชาชน” หมดไปจากสังคมไทยอย่างประสบความสำเร็จ ด้วยการ “พัฒนาคน” ให้ดำเนินชีวิตตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติอันเป็นองค์ความรู้จากการถอดบทเรียนความสำเร็จในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้คนไปพัฒนาตนเอง พัฒนาครอบครัว ให้สามารถดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน รู้จักการแยกขยะเพื่อสร้างรายได้และไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม อันเป็นปัจจัยความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย “ผู้นำ” ทุกคน รวมทั้งขอให้ข้าราชการทุกท่านได้คิดเสมอว่า บ้านเมืองนี้เป็นของเรา เมื่อเรามาใช้ชีวิต มาปฏิบัติราชการที่ใด เราก็คือคนของที่นั่น เพื่อให้เรามีแรงใจ มีพลังในการมุ่งมั่นดูแลรักษาพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาทุกด้าน พร้อมทั้งน้อมนำพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” มาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจว่า “เราทำแล้วสุขใจที่ได้เห็นคนอื่นมีความสุขจากการช่วยเหลือของเรา” อันจะส่งผลให้สถาบันนักปกครอง และสถาบันข้าราชการ เป็นสถาบันที่เป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชน เป็นสถาบันแห่งจิตวิญญาณการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ให้ความทุกข์ลดลงจนหมดไป และมีแต่ความสุขอย่างยั่งยืน



ด้าน นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า จังหวัดอ่างทอง มีผลการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากระบบ TPMAP รวมทั้งสิ้น 2,497 ครัวเรือน โดยสามารถดำเนินการแก้ไขแล้ว แบ่งเป็น มิติสุขภาพ ร้อยละ 92.92 มิติความเป็นอยู่ ร้อยละ 77.47 มิติการศึกษา ร้อยละ 72.53 มิติรายได้ ร้อยละ 77.70 และอื่น ๆ ร้อยละ 100 และจากการสำรวจเพิ่มเติมด้วยแพลตฟอร์ม ThaiQM จำนวน 71,225 ครัวเรือน ทั้งนี้ จังหวัดอ่างทอง มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่องให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการบูรณาการทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และประสานพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความสุข สามารถพึ่งพาตนเอง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพลังแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลส่งต่อการดูแลซึ่งกันและกัน ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ให้เกิดความยั่งยืน



ภาพ/ข่าว 
สำนักงานข่าวท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง (AngthongNews)
080 - 549 8787