จังหวัดอ่างทองพร้อมจัดงานมหกรรมของดีเมืองอ่างทอง-งานกาชาด และงานภูมิศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรม ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ประจำปี 2568 รวมรวมของดี 6 จังหวัดไว้ในงานเดียว


วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2568 เวลา 18.00 น.
ณ ลานหน้าองค์พระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง 

นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล (ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง) เป็นประธาน "งานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมของดีเมืองอ่างทองและกาชาด ประจำปี 2568" และ "ภูมิศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรม ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี นางศุทธิกานต์ วงศ์สถิตจิรกาล (นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอ่างทอง) รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าส่วนราชการส่วนราชการ นายอำเภอ พร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดไทยย้อนยุคสวยงามเข้าร่วมงานแถลงข่าว






โดย นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล (ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง)  กล่าวว่า ในปีนี้จังหวัดอ่างทองได้บูรณาการงานร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง จัดงานภูมิศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรม ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสักฯ งานมหกรรมของดีเมืองอ่างทอง และงานกาชาดจังหวัดอ่างทองพร้อมกัน ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-3 เมษายน ซึ่งสำหรับงานภูมิศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรมฯนั้น จะรวบรวมวัฒนธรรม การแสดง ประเพณีที่โดดเด่นของทั้ง 6 จังหวัดภาคกลางตอนบน รวมถึงสินค้า ร้านค้า ร้านอาหารพื้นถิ่นมาให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส ท่ามกลางบรรยากาศของวัดขุนอินทประมูลที่ประดับประดาแสงไฟสวยงาม 



ที่สำคัญ งานครั้งนี้เป็นการท่องเที่ยววิถีใหม่ ที่เชิญชวนให้ชาวอ่างทองและนักท่องเที่ยวได้ร่วมกันแต่งกายด้วยชุดไทยย้อนยุคมาร่วมงาน ร่วมระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เคยเสด็จ ฯ มายังจังหวัดอ่างทอง และได้ร่วมกันซึมซับความงดงามของจังหวัดอ่างทง รวมถึงทั้ง 6 จังหวัดภาคกลางตอนบนทุกแง่มุมในงานเดียว




 ในโอกาสนี้ นางศุทธิกานต์ วงศ์สถิตจิรกาล (นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอ่างทอง) ได้กล่าวเชิญชวนให้ชาวอ่างทองมาเที่ยวงานกาชาดจังหวัดอ่างทอง 2568 โดยจะมีการจัดบูทนิทรรศการแสดงผลงานจากเหล่ากาชาดจังหวัดอ่างทอง บูทรับบริจาคดวงตาและอวัยวะ จุดจำหน่ายสลากกาชาด โดยรายได้จากการจำหน่ายจะนำไปช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นการนำรายได้กลับคืนสู่ประชาชน


ขณะที่ นายนิมิต ปัทมเจริญ (ปลัดจังหวัดอ่างทอง) กล่าวว่า งานมหกรรมของดีเมืองอ่างทองฯ ถือเป็นมหกรรมใหญ่ที่จะคัดสรรผลิตภัณฑ์ของดีทุกประเภทจากทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดอ่างทองมาจำหน่ายในงาน อีกทั้งยังมีการแสดงและการประกวดร้องเพลงจากกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มกระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มครู ที่จะมีการประกวดในทุกค่ำคืน


 ด้าน นางวชิราภรณ์ เพ็ชรล้อม (วัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง) กล่าวถึงไฮไลต์กิจกรรมของงานภูมิ ศิลป์ถิ่นวัฒนธรรมฯ มากมาย อาทิ การแสดงหนังใหญ่จากจังหวัดสระบุรี นิทรรศการเก่าเล่าอดีต อาหารพื้นถิ่นที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น The Lost Test รสชาติที่หายไป ของกระทรวงวัฒนธรรม ถือเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวสู่การสร้างรายได้จากศิลปะและวัฒนธรรม


ส่วนการจัดการจราจรและการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวนั้น พันตำรวจเอกสายชล โพธิ์หอม (ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอโพธิ์ทอง) ยืนยันว่า จะมีการบริหารจัดการที่ดี โดยบริเวณจัดงานมีพื้นที่สำหรับจอดรถกว่า 1,400 คัน เพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยว และจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมถึงชุดปฏิบัติการพิเศษคอยดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวด้วย





ขอขอบคุณเนื้อข่าว 
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอ่างทอง

ภาพข่าว
สำนักงานข่าวท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง (AngthongNews)