เกษตรจังหวัดอ่างทองลงพื้นที่ให้คำแนะนำผู้ผลิตไข่ผำเตรียมจดรับรอง GAP รายแรกของจังหวัด



เมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 เวลา 13.00 น
ณ บ้านเลขที่ 65/3 .ม.14 ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง


คณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดอ่างทอง นำโดย นางสาวนฤมล สุขวิบูลย์ (นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ) ร่วมด้วย นางสาวขนิษฐา วังแสนแก้ว (นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ) และ นายณัฐวุฒิ ปรีชา (นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ) ได้ลงพื้นที่ไปยังบ้าน นางรวิ แสงแก้ว ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงไข่ผำ หรือ Super food พืชน้ำที่มีโปรตีนสูง เพื่อให้คำแนะนำและเตรียมการจดใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP)

 


ข้อควรรู้เกี่ยวกับ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) หมายถึง แนวทางในการทำ การเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด โดยขบวนการผลิตจะต้อง ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมี ไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุน การผลิตตามมาตรฐาน GAP ก่อให้เกิดความยั่งยืน ทางการเกษตร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม มาตรฐาน GAP เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมการผลิตสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ ปัจจัยการผลิต การผลิต การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งการผลิต








สำหรับที่บ้านนางรวิ แสงแก้ว ปัจจุบันได้ก่อสร้างเป็นโรงเรือนแบบปิดขนาดประมาณ 120 ตารางเมตร มีบ่อก่ออิฐฉาบปูนพร้อมปูกระเบื้อง 3 ขนาด รวม 13 บ่อ (บ่อขนาด 2 x 10 เมตรรวม 3 บ่อ, บ่อขนาด 2 x 4.5 เมตรรวม 4 บ่อและบ่อขาด 2 x 9 เมตรรวม 6 บ่อ) โดยนางรวิ ได้เริ่มเพาะเลี้ยงไข่ผำมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 และมีการปรับปรุงโรงเรือนให้ได้มาตรฐาน เตรียมการตลาดส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งต้องทำการจดขอใบรับรองตามขั้นตอนก่อน ซึ่งเมื่อได้ใบรับรอง GAP ก็จะถือว่าเป็นเกษตรกรรายแรกในจังหวัดอ่างทอง ที่เพาะเลี้ยงและจำหน่ายไข่ผำ โดยนางรวิ ได้กล่าวในตอนท้ายว่า จะทำการแปรรูปเป็นอบแห้ง และขอ อย. ต่อไป


 

ภาพและข่าวโดย
สำนักงานข่าวท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง
(อ่างทองนิวส์) 080 - 549 8787